วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชาดก

ชาดก คือ เรื่องราวในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะมาเกิดในชาติสุดท้ายและได้ตรัสรู้เป็นพระสัมพุทธเจ้า เรื่องราวของชาติหนึ่งๆ ก็เรียกว่าชาดกหนึ่งๆ รวมทั้งสิ้น 547 เรื่อง (ซึ่งน่าจะเป็น 550 เรื่อง แต่เดิมและต่อมาหายไป 3 เรื่องในภายหลัง) ชาดกอรรถกถาเริ่มต้นตรงที่กล่าวถึงทูเรนิทาน คือพระพุทธเจ้าเริ่มทำความเพียรเพื่อหวังพุทธภูมิในชาติที่เกิดเป็นสุเมธดาบส แล้วกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีต 24 พระองค์ที่กล่าวพยากรณ์รับรองพระโพธิสัตว์ของเราว่าจะได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 25 คือ เจ้าชายสิทธัตถโคตมะนี้เอง

ความจริงเกี่ยวกับนิทานชาดกที่ควรรู้ก็คือ เรื่องชาดกเป็นนิทานซึ่งรวบรวมมาจากที่ต่างๆ กัน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ ฉะนั้นจะเหมาเอาว่าเป็นพุทธวัจนะล้วน ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบรรยายไว้ด้วย พระองค์เองก็ไม่อาจจะกล่าวได้เช่นนั้น ถ้าจะเรียกว่าเป็นชุมนุมนิทานโบราณที่นำมาใช้เพื่อบรรยายหลักธรรมในแง่ต่างๆ ประกอบด้วยการบำเพ็ญบารมี 10 ประการก็ได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องชาดกในแง่ความเป็นมาและอื่นๆ แล้วทรงสรุปคุณค่าของหนังสือชาดกไว้ว่า

ข้อซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นคำแนะนำให้ท่านทั้งหลาย อ่านหนังสือเรื่องชาดกนี้ ตามคำซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่าแลดูด้วยตั้งวงกว้างฯ แต่แท้จริงเรื่องชาดกนี้เป็นเรื่องนิทานโบราณซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลายได้นำสืบๆ กันมาตั้งแต่ 2500 ปีขึ้นไปหา 3000 ปี ก็เป็นเรื่องที่ควรอยู่ซึ่งเราจะอ่านฯ ธรรมดาผู้ซึ่งมีความพอใจในความรู้วิชาหนังสือและเรื่องทั่วไปในโลก ย่อมถือว่าหนังสือซึ่งเขียนไว้แต่โบราณเช่นนี้ เป็นหนังสือสำคัญที่จะส่องให้ความประพฤติความเป็นอยู่และประเพณีของประเทศซึ่งแต่งเรื่องนิทานนั้นเป็นอย่างไร เป็นอุปการะที่จะแต่งเรื่องตำนานทั้งปวงโดยทางเทียบเคียงให้รู้คติของคนโบราณในประเทศนั้นๆ ถึงแม้แต่เพียงเรื่องปรารภซึ่งเรารู้อยู่ว่าเป็นพระอาจารย์ผู้รวบรวมคัมภีร์ชาดกได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อจะให้เห็นเหตุผลประกอบท้องเรื่องนิทานก็ดี แต่เรื่องราวเหล่านั้นย่อมมาจากความจริง ซึ่งเป็นไปอยู่ในเวลาซึ่งพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่เป็นเครื่องอุปการะใหญ่ ซึ่งจะให้เรื่องราวของประเทศและประชาชนซึ่งอยู่ในประเทศนั้น ทั้งความประพฤติของพระสาวกทั้งหลาย ตลอดถึงพระองค์พระพุทธเจ้า เหมือนหนึ่งเล่าเรื่องเป็นท่อนๆ ในสมัยหนึ่งๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประพฤติพระอิริยาบถและตรัสสั่งสอนอย่างไร เช่นหนังสือซึ่งเขาคัดข้อที่ผู้มีชื่อเสียงในปัจจุบันหรืออดีตซึ่งไม่ช้านาน ได้กระทำการหรือได้กล่าววาจาอันเป็นข้อควรสังเกตหรือควรจำและน่าพอใจอ่าน มารวบรวมขึ้นไว้ด้วยฉะบับหนึ่งต่างหาก ซึ่งผู้รู้ภาษาต่างประเทศคงจะได้พบเห็นอ่านโดยมาก ถ้าจะพยายามกล่าวเป็นคำไทย ก็เห็นว่าตรงกับคำที่เรียกว่าอภินิหาร ซึ่งมีผู้เคยแต่งอยู่บ้างฯ ความสังเกตอันนี้อาจทำให้เข้าใจในพุทธประวัติแจ่มแจ้งขึ้นฯ แท้จริงหนังสือพุทธประวัตินั้นก็ได้เก็บเรื่องราวจากพระคัมภีร์ต่างๆ มารวบรวมเรียบเรียงขึ้น เหมือนอย่างผู้จะแต่งพงศาวดาร ก็ต้องอ่านหนังสือราชการและหนังสือหลักฐานอันมีอยู่ในกาลสมัยที่ตัวจะแต่งนั้นทั่วถึงแล้ว จึงยกข้อที่ควรเรียบเรียงเป็นเรื่องในข้อซึ่งควรจะกล่าวฯ แต่ผู้ซึ่งจะอ่านหนังสือโบราณเช่นนี้ จำจะต้องสังเกตกาลสมัยของหนังสือนั้นให้รู้ว่าหนังสือนี้ได้แต่งขึ้นในประเทศใด ประเทศนั้นมีภูมิฐานอย่างไร ความประพฤติของมนุษย์ในประเทศนั้นเป็นอยู่ในกาลนั้นอย่างไร ความมุ่งหมายของผู้ซึ่งคิดเห็นว่า เป็นการที่ตนจะทำประโยชน์ให้แก่ประชุมชน เป็นอันมากอย่างไร แล้วจะได้ทำการไปด้วยอาการอย่างไร สำเร็จได้อย่างไรฯ ผู้อ่านต้องตั้งใจเหมือนตนได้เกิดขึ้นในขณะนั้น อ่านด้วยน้ำใจที่รู้สึกประโยชน์ใช่ประโยชน์ในเวลานั้น ซึ่งจะเกิดความรื่นรมย์ในใจในขณะที่อ่านนั้น และจะเข้าใจแจ่มแจ้งตลอดฯ เมื่ออ่านตลอดข้อความแล้ว จะใช้วิจารณปัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดสำหรับวินิจฉัยในภายหลังก็ตาม เมื่อเข้าใจชัดเจนแล้ว ก็จะถูกต้องตามความที่เป็นจริงฯ ข้าพเจ้าขอแนะนำผู้ซึ่งตั้งใจจะอ่านหนังสือชาดกนี้ ให้อ่านด้วยวิธีซึ่งข้าพเจ้าเรียกในเบื้องต้นว่า ตั้งวงพิจารณากว้าง ดังได้อธิบายมาแล้วนี้ฯ (พระคัมภีร์ชาดกแปล ฉบับ ส.อ.ส. เล่ม 1. อรรถกถา เอกนิบาต. ภาค 1. กรุงเทพฯ : สหายการพิมพ์, 2539, ไม่ปรากฏเลขหน้า.)

อ้างอิงเอกสารวรรณคดีพุทธศาสนาพากย์ไทย ของ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545. หน้า 35-37)

ชาดก

อัมพชาดก

วายเมเถว ปุริโสติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต เอกํ วตฺตสมฺปนฺนํ พฺราหฺมณํ อารพฺภ กเถสิ ฯ
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภพรามหณ์ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรผู้หนึ่ง ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า วายเมเถว ปุริโส ดังนี้ ฯ

เรื่องมีว่า พราหมณ์นั้น เป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี บรรพชาถวายชีวิตในพระศาสนา ได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร กระทำอาจริยวัตรอุปัชฌายวัตรและวัตรมีการตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ ทั้งวัตรในโรงอุโบสถและวัตรในเรือนไฟ เป็นต้น เป็นอันดี ได้เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในมหาวัตรทั้ง 14 และขันธกวัตรทั้ง 80 กวาดวิหาร บริเวณโรงตรึกทางไปวิหาร ให้น้ำดื่มแก่พวกมนุษย์ พวกมนุษย์เลื่อมใสในความถึงพร้อมด้วยวัตรของท่าน พากันถวายภัตรประจำประมาณ 500 ราย ลาภสักการะอันมากมายบังเกิดขึ้น ความอยู่สำราญได้เกิดแก่ภิกษุเป็นอันมากเพราะอาศัยท่าน อยู่มาวันหนึ่งพวกภิกษุพากันยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้น ยังลาภสักการะอย่างมากมายให้เกิดแก่ตนเพราะถึงพร้อมด้วยวัตร ความอยู่อย่างสำราญเกิดแก่ภิกษุเป็นอันมากเพราะอาศัยเธอผู้เดียว พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อกี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุพากันกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นดอก แม้ในปางก่อนภิกษุนี้ก็เคยเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร แม้ในปางก่อนอาศัยเธอผู้เดียวฤาษี 500 ไม่ต้องไปป่าหาผลาผลกันเลย เลี้ยงชีพด้วยผลาผลที่ภิกษุนี้นำมาแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้





อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต รชฺชํ กาเรนฺเต ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว บวชเป็นฤาษี มีฤาษี 500 เป็นบริวารอาศัยอยู่ที่เชิงเขา ครั้งนั้นในป่าหิมพานต์ แห้งแล้งร้ายแรง น้ำดื่มเหือดแห้งในที่นั้น ๆ พวกดิรัจฉานเมื่อไม่ได้น้ำดื่มพากันลำบาก ครั้งนั้นในพระดาบสเหล่านั้น มีดาบสองค์หนึ่ง เห็นความทุกข์เกิดแต่ความกระหายของพวกดิรัจฉานเหล่านั้น จึงตัดต้นไม้ต้นหนึ่งทำราง โพงน้ำใส่ให้เป็นน้ำดื่มแก่พวกดิรัจฉานเหล่านั้น เมื่อดิรัจฉานประชุมกันดื่มน้ำมากขึ้น พระดาบสเลยไม่มีโอกาสที่จะไปหาผลาผล แม้ท่านจะอดอาหารย่อมลำบากยิ่งนัก เอาเถิด พวกเราตั้งกติกากันไว้เถิด พวกนั้นพากันตั้งกติกาไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้ ผู้ที่มาดื่มน้ำต้องคาบผลไม้มาตามสมควรแก่กำลังของตน ตั้งแต่นั้นดิรัจฉานตัวหนึ่ง ๆ ก็คาบผลไม้มีมะม่วงและขนุนเป็นต้นที่อร่อย ๆ นำมาตามสมควรแก่กำลังของตน ๆ เรื่อยมา ผลาผลที่ฝูงดิรัจฉานนำมาเพื่อประโยชน์แก่พระดาบสองค์เดียว ได้มีประมาณบรรทุกเต็มสองเล่มเกวียนครึ่ง พระดาบสทั้ง 500 พลอยฉันผลาผลนั้นทั่วกัน ยังต้องทิ้งเสียเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์เห็นเหตุนั้นแล้วกล่าวว่า อาศัยดาบสผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรผู้เดียว ความเลี้ยงชีพอย่างไม่ต้องหาผลาผล เกิดขึ้นได้แก่หมู่ดาบสถึงเท่านี้ ธรรมดาความเพียรเป็นเรื่องควรกระทำ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า

วายเมเถว ปุริโสน นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต

วายามสฺส ผลํ ปสฺส

ภุตฺตา อมฺพา อนีติทํ

แปลว่า บุรุษพึงพยายามร่ำไป บัณฑิตไม่พึงเบื่อหน่ายเสีย เชิญดูผลแห่งหความพยายามเถิด หมู่ดาบสนั้นพากันได้ฉันผลไม้มีมะม่วงเป็นต้นอย่างไม่ต้องอั้น ฯ

มีอรรถาธิบายว่า บัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไป ไม่พึงท้อถอยเสียในกรรมมีการบำเพ็ญวัตรเป็นต้นของตน เหตุไร เหตุว่าความพยายามที่ไร้ผลไม่มีเลย เหตุนั้นพระมหาสัตว์เมื่อเตือนคณะฤาษีว่า ธรรมดาความพยายามย่อมมีผลเรื่อยไป จึงกล่าวว่า เชิญดูผลแห่งความพยายามเถิด เช่นไรเล่า เช่นที่ฤาษีทั้ง 500 ฉันผลไม้มีมะม่วงเป็นต้นกันอย่างไม่อั้น หมายความว่า ก็ผลาผลที่พวกดิรัจฉานเหล่านั้นนำมามีประการต่าง ๆ แต่กล่าวถึงมะม่วงเป็นต้นด้วยอำนาจที่เป็นผลไม้มากมายก่ายกองกว่าผลไม้ทั้งนั้น ข้อที่ฤาษีทั้ง 500 ไม่ต้องไปป่าด้วยตนเอง พากันฉันผลไม้มีมะม่วงเป็นมากกว่าอื่น ๆ เหล่านี้ ซึ่งดิรัจฉานทั้งหลายนำมาเพื่อประโยชน์แก่ดาบสนั้น นี้เป็นผลแห่งความพยายาม ก็และการที่ได้ฉันนั้นเล่า เป็นไม่ต้องอั้นกัน หมายความว่า ที่จะต้องถือเอาด้วยกล่าวว่าดังนี้ ๆ อย่างนี้ เป็นอันไม่มีกันละ เชิญดูผลนั้นอันประจักษ์แจ่มแจ้งกันเถิด พระมหาสัตว์ได้ให้โอวาทแก่คณะฤาษีด้วยประการฉะนี้ฯ

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ดาบสผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุนี้ ส่วนศาสดาของคณะ ได้มาเป็นเราแลฯ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น